เปลือกแมคคาเดเมียเพื่อผลิตถ่านกัมมันต์

เปลือกแมคคาเดเมียเพื่อผลิตถ่านกัมมันต์

ประเภทวัสดุอาหาร เปลือกแมคคาเดเมีย
ผลิตภัณฑ์ที่ได้จากการวิจัย ถ่านกัมมันต์ และถ่านกัมมันต์ที่มีคุณสมบัติดูดซับเอทิลีนเพื่อยืดอายุการเก็บมะม่วงน้ำดอกไม้สีทอง
ผลิตภัณฑ์ที่จำหน่าย Diffuser From Macadamia Charcoal ภายใต้แบรนด์ MACADACOAL by PhanKlin


ผู้วิจัย ผ.ศ ดร.วิรงรอง ทองดีสุนทร และคณะ มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง
ผู้ใช้ประโยชน์ นายสิเมโอน ทศวงศ์วรรณ


มะม่วงเมื่อเริ่มสุกจะปล่อยแก๊สเอทิลีน ซึ่งหากดูดซับแก๊สหรือสารนี้จะช่วยชะลอการสุกและยืดอายุมะม่วงได้ งานวิจัยนี้ได้นำเปลือกแมคคาเดเมียมาผลิตเป็นถ่านกัมมันต์ ถ่านกัมมันต์จากเปลือกแมคคาเดเมียที่ได้ถูกนำมาใช้ในรูปแบบการบรรจุในซองและขึ้นรูปเป็นถาด เพื่อดูดซับแก๊สเอทิลีนที่มะม่วงผลิต ทำให้ชะลอการสุกและยืดอายุการเก็บมะม่วงเพื่อการขนส่งและการส่งออก


กระบวนการผลิตแรก คือผลิตถ่านจากเปลือกแมคคาเดเมีย โดยนำเปลือกแมคคาเดเมียมาล้างด้วยน้ำสะอาด ผึ่งแดดให้แห้ง เผาที่อุณหภูมิ 650-900 องศาเซลเซียส นำถ่านที่ได้จากการเผามาบด และคัดขนาดที่ 600 ไมครอน หรือเทียบเท่ากับ 28 mesh (Tyler) นำถ่านที่บดละเอียดไปอบที่อุณหภูมิ 110-120 องศาเซลเซียส กระบวนการที่ 2 คือผลิตถ่านกัมมันต์ โดยนำถ่านที่ได้จากกระบวนการแรกมาผสมกับกรดฟอสฟอริก (H3PO4) เผาเปลือกแมคคาเดเมียให้เป็นถ่าน (Carbonization) อีกครั้งด้วยเตาเผาไฟฟ้าไร้ควัน ที่อุณหภูมิ 500 องศาเซลเซียส จากนั้นปล่อยให้เย็นตัวและล้างถ่านกัมมันต์ด้วยน้ำ และอบถ่านกัมมันต์ที่ได้ที่อุณหภูมิ 110-120 องศาเซลเซียส ซึ่งจะได้ถ่านกัมมันต์ 25.94% จากน้ำหนักเปลือกสด (รวมเปลือกชั้นนอกและกะลา) มีค่าความพรุน ความหนาแน่นเชิงปริมาตร และการดูดซับไอโอดีน อยู่ในช่วงที่เป็นค่ามาตรฐานของถ่านกัมมันต์ตามมาตรฐานอุตสาหกรรมไทย (มอก.)


เมื่อทดสอบความสามารถในการดูดซับแก๊สเอทิลีน พบว่าถ่านกัมมันต์จากเปลือกแมคคาเดเมียสามารถดูดซับแก๊สเอทิลีนในภาชนะบรรจุได้ โดยมีความสามารถในการดูดซับเอทิลีนประมาณ 60-80% ของความเข้มข้นทั้งหมด จากนั้นจึงศึกษาการประยุกต์ใช้ในการเก็บรักษามะม่วงน้ำดอกไม้สีทองโดยบรรจุถ่านกัมมันต์ในรูปซองและผสมเยื่อขึ้นรูปเป็นถาด พบว่า ถ่านกัมมันต์จากเปลือกแมคคาเดเมียและถาดเยื่อขึ้นรูปผสมถ่านกัมมันต์ สามารถชะลอการเปลี่ยนแปลงทางกายภาพและเคมีของมะม่วงจากแก๊สเอทิลีนที่มะม่วงผลิต แสดงให้เห็นว่าสามารถช่วยชะลอการสุกและยืดอายุการเก็บของมะม่วงเพื่อการขนส่งและการส่งออกได้ อย่างไรก็ตามการที่ดูดซับเอทิลีนมากเกินไปกลับทำให้เกิดโรค anthracnose ได้เร็ว จึงควรใช้ให้เกิดสมดุล


ปัจจุบัน งานวิจัยได้นำไปสู่การใช้ประโยชน์เชิงพาณิชย์เป็นผลิตภัณฑ์กระจายความหอมของน้ำมันหอมระเหย (Diffuser) โดยนายสิเมโอน ทศวงศ์วรรณ ชื่อผลิตภัณฑ์ Diffuser From Macadamia Charcoal ภายใต้แบรนด์ MACADACOAL by PhanKlin


โครงการ การใช้ประโยชน์จากเศษเปลือกแมคคาเดเมียเพื่อผลิตถ่านกัมมันต์และประยุกต์ใช้เป็นสารดูดซับเอทิลีนเพื่อยืดอายุการเก็บมะม่วงน้ำดอกไม้สีทอง
Utilization of macadamia shell waste for activated charcoal production and its application as ethylene absorber for extending the shelf life of mango cv. ‘Namdokmai Sithong’


สนับสนุนการวิจัยโดย สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ ประจำปีงบประมาณ 2563


วิจัยโดย
ผศ. ดร.วิรงรอง ทองดีสุนทร และคณะ
สำนักวิชาอุตสาหกรรมเกษตร มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง
333 หมู่ 1 ต.ท่าสุด อ.เมือง จ.เชียงราย 57100
Email: wirongrong.ton@mfu.ac.th


รูปภาพผลงาน

การประยุกต์ใช้ผลงานวิจัย

ชื่อผลิตภัณฑ์ Diffuser From Macadamia Charcoal
เจ้าของผลิตภัณฑ์ นายสิเมโอน ทศวงศ์วรรณ
แบรนด์ MACADACOAL by PhanKlin
Facebook page https://www.facebook.com/profile.php?id=61551042323256&mibextid=ZbWKwL

โครงการที่เกี่ยวข้อง

product-soy-flour-bowl-with-soybean-kinako-flour
การใช้กากถั่วเหลืองผลิตแป้งโอคาร่า
แป้งโอคาร่าและเบเกอรี่จากกากถั่วเหลือง ประเภทวัสดุอาหาร กากถั่วเหลืองผลิตภัณฑ์ที่ได้จากการวิจัย แป้งโอคาร่า...
ดูรายละเอียด...
Close-up fresh chicken eggs
การใช้ประโยชน์จากเปลือกไข่สำหรับทำขนมบิสกิต
การใช้ประโยชน์จากเปลือกไข่สำหรับทำขนมบิสกิต ประเภทวัสดุอาหาร เปลือกไข่ผลิตภัณฑ์ที่ได้จากการวิจัย ขนมบิสกิตสุนัข ผู้วิจัย...
ดูรายละเอียด...
1
เครื่องผลิตปุ๋ยหมัก
ประเภทวัสดุอาหารและอื่นๆ เศษอาหาร ผักตบชวา เปลือกทุเรียน ใบไม้แห้ง มูลสัตว์ วัสดุเหลือใช้ทางการเกษตร...
ดูรายละเอียด...