กฎระเบียบเกี่ยวกับเศษอาหารของประเทศต่าง ๆ

ฝรั่งเศส

ในปี 2559 ฝรั่งเศสออกกฎหมายเชิงนวัตกรรมเพื่อจัดการกับขยะอาหาร โดยซูเปอร์มาร์เก็ตถูกห้ามไม่ให้ทำลายอาหารที่จำหน่ายไม่ได้ โดยต้องบริจาคอาหารแทน กฎหมายนี้บังคับใช้ด้วยค่าปรับสูงถึง 3,750 ยูโรต่อการละเมิดกฎหมายหนึ่งครั้ง (https://www.theguardian.com/world/2016/feb/04/french-law-forbids-food-waste-by-supermarkets)

นอกจากนี้ยังมีมาตรการสำหรับร้านอาหาร โดยตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ 2559 ร้านอาหารต้องเสนอ “ถุงกลับบ้าน” ให้กับผู้ที่มารับประทานอาหารในร้าน เพื่อให้ผู้ที่มารับประทานอาหารสามารถนำอาหารส่วนเกินที่ทานไม่หมดกลับบ้านได้ ซึ่งกฎหมาย “ถุงกลับบ้าน” ขัดต่อวัฒนธรรมและบรรทัดฐานด้านอาหารของฝรั่งเศสที่ไม่นำอาหารที่รับประทานไม่หมดกลับบ้าน แม้ว่าในปี 2557 คนฝรั่งเศส 75% ชอบแนวคิดเรื่อง “ถุงกลับบ้าน” แต่คนฝรั่งเศส 70% ไม่เคยขอนำอาหารกลับบ้าน เพราะถือเป็นมารยาทที่ไม่ดีที่จะขอ “ถุงกลับบ้าน” จากร้านอาหารระดับไฮเอนด์ (https://www.france24.com/en/20160104-france-doggy-bag-law-restaurants-food-waste)

อิตาลี

อิตาลีได้ผ่านกฎหมายเรื่องขยะอาหารในปี 2559 กฎหมายมีวัตถุประสงค์เพื่อลดขยะอาหารในทุกขั้นตอนของห่วงโซ่อุปทานอาหารเช่นเดียวกับกฎหมายฝรั่งเศส มุ่งเน้นไปที่การบริจาคและการแจกจ่ายเศษอาหาร แต่ต่างจากกฎหมายฝรั่งเศสตรงที่ไม่เน้นไปที่บทลงโทษ กฎหมายมีเป้าหมายเพื่อส่งเสริมให้ธุรกิจบริจาคหรือแจกจ่ายอาหารจำหน่ายไม่หมดผ่านมาตรการคืนภาษี (https://zerowasteeurope.eu/library/italys-law-for-donation-and-distribution-of-food-and-pharmaceuticals-to-limit-food-waste/)

เกาหลีใต้

เกาหลีใต้พยายามจัดการกับขยะอาหารมาตั้งแต่ปี 2548 เมื่อรัฐบาลสั่งห้ามการทิ้งอาหารลงในหลุมฝังกลบ ในปี 2553 รัฐบาลเกาหลีใต้ได้เปิดตัวโครงการนำร่องการกำจัดเศษอาหาร เรื่องนี้เกี่ยวข้องกับประชาชน โดยประชาชนต้องรับผิดชอบค่าใช้จ่ายสำหรับเศษอาหารที่เกิดขึ้นใน 144 ภูมิภาคท้องถิ่น (https://keia.org/the-peninsula/south-koreas-food-waste-system-is-a-model-for-developed-nations/)

ในระหว่างนี้ รัฐบาลเกาหลีใต้กำลังสร้างโครงสร้างพื้นฐานสำหรับระบบกำจัดเศษอาหารระดับชาติ เปิดตัวในปี 2556 ผู้อยู่อาศัยทุกคนในเกาหลีมีหน้าที่รับผิดชอบในการกำจัดเศษอาหารอย่างเหมาะสมและจ่ายเงินตามน้ำหนัก มีค่าปรับสำหรับการไม่ปฏิบัติตาม

รถเก็บขนขยะอาหารจะเก็บขยะอินทรีย์ทุกสัปดาห์ เช่นเดียวกับการเก็บขยะทั่วไป จากนั้นขยะอาหารนี้จะถูกส่งไปยังโรงงานแปรรูป ที่โรงงานจะมีการแยกของเหลวซึ่งคิดเป็นประมาณ 80% ของของเสีย ซึ่งของเหลวนี้จะถูกแปลงเป็นก๊าซชีวภาพ  เศษของแข็งที่ใช้เป็นปุ๋ยหมักและอาหารสัตว์

แผนสำหรับโรงงานใช้ประโยชน์จากเศษอาหารได้รับการเห็นชอบกันในปี 2563 ในจังหวัดคยองกีโด (ตอนเหนือของกรุงโซล) ซึ่งจะเปลี่ยนก๊าซชีวภาพให้เป็นความร้อน ซึ่งคาดว่าโรงงานขนาด 7 เมกะวัตต์นี้จะย่อยเศษอาหารได้มากถึง 93,000 ตันต่อปี (https://recyclinginside.com/food-waste-recycling/plant-in-south-korea-to-produce-heat-from-food-waste/food-waste-recycling/)

ญี่ปุ่น

ญี่ปุ่นต่อจัดการกับขยะอาหารด้วยกฎหมายมาตั้งแต่ปี 2544 เมื่อรัฐบาลประกาศใช้ “พระราชบัญญัติการรีไซเคิลขยะอาหาร” (Food Waste Recycling Act) โดย “พระราชบัญญัติการรีไซเคิลเศษอาหาร” ส่งเสริมการลดและการรีไซเคิลเศษอาหารให้เป็นปุ๋ยและอาหารสัตว์ พระราชบัญญัติดังกล่าวทำให้ธุรกิจที่สร้างขยะอาหารจำนวนมากต้องดำเนินการเพื่อลดและรีไซเคิลขยะรวมทั้งรายงานผลเรื่องขยะอาหารต่อรัฐบาล (https://www.maff.go.jp/e/policies/env/attach/pdf/frecycle-1.pdf)

“พระราชบัญญัติการสูญเสียอาหาร” มีผลบังคับใช้เดือนตุลาคม 2562 ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของแผนของรัฐบาลในการลดขยะอาหารในครัวเรือน เพื่อตอบสนองต่อเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนที่ 12 โดยวัตถุประสงค์ส่วนหนึ่งของ “พระราชบัญญัติการสูญเสียอาหาร” คือการลดขยะอาหารลง 50% ภายในปี 2573

“พระราชบัญญัติการสูญเสียอาหาร” กำหนดให้รัฐบาลระดับชาติต้องกำหนดกรอบการทำงานพื้นฐานในการลดขยะอาหาร และรัฐบาลท้องถิ่นต้องดำเนินการตามแผนของตนเอง โดยการดำเนินการจะเกี่ยวข้องกับการให้ความรู้แก่ผู้บริโภคและธุรกิจ การสนับสนุนของรัฐบาลท้องถิ่นและระดับชาติเพื่อกำหนดมาตรการช่วยเหลือองค์กรพัฒนาเอกชน  ในการช่วยเหลืออาหารที่จะสูญเปล่าและแจกจ่ายให้กับผู้ที่ต้องการความช่วยเหลือและผู้ประสบภัยพิบัติ องค์กรต่าง ๆ เช่น องค์กร Second Harvest ได้จัดส่งอาหารจำนวน 2,929,863 มื้อ ซึ่งมีมูลค่าประมาณ 1,619,606,330 เยน (ประมาณ 11,005,600 เหรียญสหรัฐ) ในปี 2565 (https://2hj.org/english/wp/wp-content/themes/2hj_en/pdf/2hj_AR_2022_fix_web.pdf)

สิงคโปร์

สิงคโปร์เริ่มมีแผนการจัดการกับขยะอาหารในปี 2562 และออกกฎหมายว่าด้วยความยั่งยืนของทรัพยากรที่มีผลบังคับในปี 2567 เพื่อให้ธุรกิจต่าง ๆ มีเวลาเตรียมตัว โดยกฎหมายว่าด้วยความยั่งยืนของทรัพยากรบับนี้มีข้อกฎหมายเกี่ยวกับขยะอาหารด้วย ซึ่งมี 3 ยุทธศาสตร์ ในการจัดการกับขยะอาหาร (https://www.nea.gov.sg/our-services/waste-management/3r-programmes-and-resources/food-waste-management/food-waste-management-strategies) คือ

ยุทธศาสตร์ที่ 1: ป้องกันและลดการสูญเสียอาหารที่ต้นทาง

ยุทธศาสตร์ที่ 2: แจกจ่ายอาหารที่ขายไม่ออก/ส่วนเกิน

ยุทธศาสตร์ที่ 3: รีไซเคิล/บำบัดเศษอาหาร

กฎหมายใหม่นี้คาดว่าจะส่งผลกระทบต่อห้างสรรพสินค้า โรงแรม และโรงงานประมาณ 360 แห่ง ซึ่งเป็นที่ตั้งของผู้ผลิตอาหารและผู้จัดเลี้ยงที่เกี่ยวข้องกับการเตรียมและการแปรรูปอาหาร สถานประกอบการที่เกี่ยวข้องกับกฎหมาย ได้แก่ (https://www.nea.gov.sg/media/news/news/index/businesses-required-to-segregate-food-waste-for-treatment-under-new-legislation)

  • ห้างสรรพสินค้าที่มีพื้นที่อาหารและเครื่องดื่มมากกว่า 3,000 ตารางเมตร
  • โรงแรมที่มีอาหารและเครื่องดื่มและพื้นที่จัดงานมากกว่า 3,000 ตารางเมตร
  • ธุรกิจการผลิตอาหารขนาดใหญ่
  • โรงงานที่มีผู้ใช้หลายราย มีธุรกิจการผลิตอาหารขนาดใหญ่อย่างน้อยหนึ่งแห่ง และ
  • โรงงานที่มีผู้ใช้หลายราย มีพื้นที่รวมมากกว่า 20,000 ตารางเมตร และผู้เช่าอาหารมากกว่า 20 ราย (เช่น ผู้ผลิตอาหารและผู้จัดเลี้ยง)

นอกจากนี้ กฎหมายยังสนับสนุนให้ร้านอาหารและซูเปอร์มาร์เก็ตแจกจ่ายอาหารที่ขายไม่ออก/ส่วนเกินให้กับองค์กรต่าง ๆ เช่น Food Bank Singapore หรือ Food from the Heart

Sources:
https://www.lightblueconsulting.com/post/which-countries-have-laws-against-food-waste-what-restaurants-need-to-know-part-1

https://www.lightblueconsulting.com/post/which-countries-have-laws-against-food-waste-what-restaurants-need-to-know-part-2