แผนปฏิบัติด้านการจัดการขยะอาหาร ระยะที่ 1 (พ.ศ. 2566 – 2570)

ข้อมูลพื้นฐาน

ปริมาณขยะอาหารเกิดขึ้นทั้งประเทศมีประมาณ 9.68 ล้านตัน หรือ 146 กิโลกรัมต่อคนต่อปี ผลการสำรวจองค์ประกอบขยะมูลฝอย ณ สถานที่กำจัดขยะมูลฝอย ปี 2564 มีสัดส่วนของขยะอาหารมากถึง 38.76% ซึ่งประกอบด้วยส่วนที่รับประทานได้ (Edible) 39.5% และส่วนที่รับประทานไม่ได้ (Inedible) 60.5% อาทิ กระดูก ก้าง เปลือก เป็นต้น

เนื่องจากคนส่วนใหญ่ยังไม่ตระหนักถึงการป้องกันและลดการเกิดขยะอาหาร รวมถึงการคัดแยกและจัดการขยะอาหารตั้งแต่ต้นทาง อีกทั้งองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นส่วนใหญ่ไม่มีการวางระบบการคัดแยกและเก็บขนมูลฝอยแบบแยกประเภท ทำให้มีมูลฝอยถูกทิ้งปะปนกัน ก่อให้เกิดปัญหาต่อระบบคัดแยก การนำกลับไปใช้ประโยชน์ และระบบกำจัดที่ปลายทาง

ขยะอาหารคิดเป็น

ของขยะทั้งหมด
0 %
ขยะอาหารรับประทานได้
39.5%
ขยะอาหารรับประทานไม่ได้
60.5%

ผลการศึกษาสัดส่วนขยะอาหารต่อมูลฝอยตามประเภทแหล่งกำเนิดพบว่า แหล่งกำเนิดที่ทิ้งขยะอาหารต่อสัดส่วนมูลฝอยสูงสุดคือ ตลาดสด 77.26%  รองลงมาคือ ห้างสรรพสินค้าและร้านสะดวกซื้อ 54.94% สำนักงาน 41.41% คอนโดมิเนียมและอพาร์ทเม้นท์ 40.98% โรงแรมและรีสอร์ท 37.03% วัด 35.82% ครัวเรือน 35.29% และสถานศึกษา 30.48%

ผลการศึกษาพฤติกรรมผู้บริโภคระดับครัวเรือนพบว่า ขยะอาหารในครัวเรือนที่พบมากที่สุดคือ ส่วนที่รับประทานไม่ได้ (Inedible) รองลงมาเป็นขยะอาหารประเภทผลไม้ ส่วนขยะอาหารที่เกิดจากผู้ประกอบอาหารและผู้จำหน่ายอาหารเกิดขึ้นตั้งแต่ขั้นตอนการรับวัตถุดิบ การตัดแต่ง การปรุงอาหาร ไปจนถึงการจัดจาน เช่น ขยะอาหารที่เกิดจากการตัดแต่งวัตถุดิบ ขยะอาหารที่เกิดจากวัตถุดิบที่เก็บไว้นานแต่ไม่ได้ใช้จนเน่าเสียทิ้งไป อาหารที่ต้องทิ้งเพราะขายไม่หมด เป็นต้น

เนื้อหาของแผนปฏิบัติด้านการจัดการขยะอาหาร ระยะที่ 1 (พ.ศ. 2566 – 2570)

แผนปฏิบัตินี้มุ่งเน้นการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมผู้จำหน่ายอาหาร ผู้ประกอบอาหาร และผู้บริโภค ในการป้องกันการเกิดและลดขยะอาหาร ณ แหล่งกำเนิด การนำขยะอาหารไปใช้ประโยชน์อย่างคุ้มค่า เพื่อให้เหลือขยะอาหารที่ต้องกำจัดน้อยที่สุด ส่งผลให้เกิดการแก้ไขปัญหาขยะอาหารในประเทศอย่างยั่งยืนและเป็นรูปธรรมอย่างต่อเนื่อง ภายใต้แผนที่นำทางการจัดการขยะอาหาร (พ.ศ. 2566 – 2573) ซึ่งสอดคล้องกับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนของสหประชาชาติ (Sustainable Development Goals: SDGs) เป้าหมายที่ 12.3 การลดขยะเศษอาหารของโลกลงครึ่งหนึ่งในระดับค้าปลีกและผู้บริโภค ภายในปี พ.ศ. 2573

  1. การป้องกันการเกิดขยะอาหารที่แหล่งกำเนิด (Food Waste Prevention) คือ การป้องกันไม่ให้เกิดขยะอาหารตั้งแต่ต้นทาง โดยวางแผนการผลิต/การซื้อให้พอดีกับความต้องการในการจำหน่ายอาหาร การประกอบอาหาร และการบริโภค เพื่อไม่ให้เกิดปัญหาอาหารเกินความต้องการ
  2. การลดขยะอาหารที่แหล่งกำเนิด (Source Reduction) คือ การลดปริมาณอาหารที่เกินความต้องการจากขั้นตอนการจำหน่ายและการประกอบอาหารในระดับธุรกิจและครัวเรือน โดยเรียงลำดับความสำคัญดังนี้
    1. จัดการกับวัตถุดิบและอาหารส่วนเกินก่อนที่จะกลายเป็นขยะอาหาร อาทิ การถนอมอาหารจากวัตถุดิบส่วนเกิน หรือการดัดแปลงเมนูจากอาหารส่วนเกิน 
    2. การแบ่งปันให้ผู้ด้อยโอกาส (Feed Hungry People) คือ การบริจาคอาหารส่วนเกินให้กับธนาคารอาหาร โรงทาน และสถานสงเคราะห์ 
  3. การนำขยะอาหารไปใช้ประโยชน์ อันคำนึงถึงผลประโยชน์ต่อ สิ่งแวดล้อม สังคม และเศรษฐกิจ โดยเรียงลำดับความสำคัญดังนี้
    1. การเลี้ยงสัตว์ (Feed Animals) เป็นการคงคุณค่าทางโภชนาการให้ได้มากที่สุด และลดค่าใช้จ่ายของผู้เลี้ยงสัตว์ 
    2. การใช้ประโยชน์ทางอุตสาหกรรม (Industrial Uses) เป็นการคงคุณค่าทางวัสดุและศักยภาพการแปลงเป็นพลังงาน รวมทั้งเพิ่มมูลค่าให้กับขยะอาหารโดยการนำขยะอาหารประเภทต่าง ๆ มาใช้ประโยชน์เชิงอุตสาหกรรมโดยแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ใหม่ 
    3. การทำปุ๋ย (Composting) เป็นการคงคุณค่าทางแร่ธาตุ โดยการนำขยะอาหารมาหมักทำปุ๋ย ปรับปรุงสภาพดินและเพิ่มธาตุอาหารให้พืชเพื่อผลิตอาหารใหม่ 
  4. การกำจัดโดยการฝังกลบ/การเผา (Landfill/Incineration) คือ ขยะส่วนที่เหลือที่ไม่สามารถใช้ประโยชน์ได้ นำมากำจัดโดยการฝังกลบหรือเผาในเตาเผา ทั้งนี้ การกำจัดควรเป็นขั้นตอนสุดท้ายของการจัดการ