คำแนะนำ แนวทางการจัดการขยะอาหาร สำหรับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น

ที่มา: กรมควบคุมมลพิษ

ประเทศไทยกำลังเผชิญกับปัญหาขยะอาหารที่ซับซ้อนและเกี่ยวข้องกับหลายภาคส่วนของสังคม ข้อมูลในปี 2567 ชี้ให้เห็นว่าขยะอาหารคิดเป็น 37% ของขยะมูลฝอยทั้งหมดในประเทศ ซึ่งสะท้อนถึงปัญหาการจัดการขยะอาหารที่ยังไม่ได้รับการพัฒนาอย่างเต็มที่ การขาดการแยกขยะตั้งแต่ต้นทางทำให้เกิดปัญหามากมาย เช่น กลิ่นเหม็น การเพิ่มจำนวนสัตว์รบกวน และการปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่ส่งผลกระทบต่อสภาพภูมิอากาศ การจัดการขยะอาหารจึงกลายเป็นประเด็นสำคัญที่ต้องดำเนินการอย่างเร่งด่วน

ประเทศไทยผลิตขยะอาหารประมาณ 10.24 ล้านตันต่อปี คิดเป็น 155 กิโลกรัมต่อคนต่อปี พบว่าประมาณ 39.5% ของขยะอาหารเป็นส่วนที่ยังสามารถบริโภคได้ เช่น เศษอาหารที่ถูกทิ้งโดยไม่จำเป็น หรืออาหารที่เหลือจากการบริโภค ขณะที่ 60.5% เป็นส่วนที่ไม่สามารถบริโภคได้ เช่น เปลือกผลไม้ ก้างปลา กระดูก การขาดการคัดแยกและจัดการขยะอาหารอย่างเหมาะสมตั้งแต่ต้นทางทำให้ขยะเหล่านี้ถูกทิ้งรวมกับขยะทั่วไป ส่งผลให้สูญเสียโอกาสในการนำไปใช้ประโยชน์ ปัญหาการจัดการขยะอาหารในองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น พบว่า

  1. ไม่มีแนวปฏิบัติสำหรับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นอย่างชัดเจน ในการลดขยะอาหาร การจัดการอาหารส่วนเกิน และการนำขยะอาหารไปใช้ประโยชน์
  2. ขาดศูนย์ความรู้กลางด้านการจัดการขยะอาหาร (Food Waste Knowledge Hub) เพื่อให้
    องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นค้นคว้าหาข้อมูลสำหรับจัดการขยะอาหาร 
  3. ขาดแหล่งรองรับอาหารส่วนเกิน ทั้งด้านองค์กรที่รับบริจาคและข้อมูลการนำขยะอาหารไปใช้ประโยชน์ในพื้นที่
  4. ไม่มีการกำหนดให้ประชาชนคัดแยกขยะอาหาร เนื่องจากขาดแหล่งนำขยะที่คัดแยกไปใช้
  5. เทคโนโลยีจัดการขยะยังมีต้นทุนสูง เช่น เครื่องหมักปุ๋ยอัตโนมัติ ยังมีราคาแพง ทำให้ประชาชน โรงอาหาร และสถานประกอบการต้องพึ่งพาการเก็บขนโดยองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น

ดังนั้นเพื่อให้การจัดการขยะอาหารมีแนวทางในการดำเนินงานที่เหมาะสม จึงควรมุ่งเน้นการลดปริมาณขยะตั้งแต่ต้นทาง และการนำขยะที่เกิดขึ้นไปใช้ประโยชน์ให้คุ้มค่า เพื่อลดปริมาณขยะที่ต้องกำจัดให้น้อยที่สุด โดยมีลำดับในการลดขยะอาหาร คือ

  1. การป้องกันและลดการเกิดขยะอาหารจากแหล่งกำเนิดหรือตั้งแต่ต้นทาง (Food Waste Prevention and Reduction) เช่น การวางแผนการซื้ออาหารให้พอดีกับความต้องการ การใช้วัตถุดิบเหลือใช้ในการสร้างสรรค์เมนูใหม่ การบริจาคอาหารส่วนเกิน 
  2. การนำขยะอาหารไปใช้ประโยชน์ โดยการเลี้ยงสัตว์ หมักปุ๋ย ผลิตน้ำหมักชีวภาพ และแปรรูปเป็นพลังงาน เช่น ก๊าซชีวภาพ เพื่อใช้ในโรงงานอุตสาหกรรม 
  3. การกำจัดขยะที่เหลือโดยการฝังกลบ/การเผา (Landfill/Incineration)  อย่างไรก็ตามควรเน้นลดปริมาณขยะที่ต้องกำจัดให้น้อยที่สุด

ผลิตขยะอาหารทั้งประเทศ

10.24 ล้านตันต่อปี

สามารถบริโภคได้

39.5%

ไม่สามารถบริโภคได้

60.5%

แนวทางการจัดการขยะอาหารแต่ละแหล่งกำเนิด

การจัดการขยะอาหารแบ่งตามแหล่งกำเนิดเป็น 8 กลุ่ม ได้แก่ บ้านเรือน, ศูนย์ราชการ/อาคารสำนักงาน/โรงเรียน, ศูนย์อาหาร/ร้านอาหาร/ภัตตาคาร, ซูเปอร์มาร์เก็ต/ร้านสะดวกซื้อ, ตลาด, วัด, คอนโดมิเนียม/อาคารสูง และโรงแรม โดยแต่ละแหล่งกำเนิดมีแนวทางการจัดการที่มุ่งเน้นการป้องกันและลดขยะอาหารผ่านการวางแผนการซื้อ ผลิต และบริโภคให้เหมาะสม พร้อมทั้งส่งเสริมการบริจาคอาหารส่วนเกินอย่างปลอดภัย รวมถึงการจัดการขยะที่เลี้ยงสัตว์ได้และเลี้ยงสัตว์ไม่ได้ ทั้งนี้ ในแต่ละประเภทของแหล่งกำเนิดขยะ ยังมีแนวทางการบริหารจัดการที่เฉพาะเจาะจงแตกต่างกันดังนี้

แนวทางการจัดการขยะที่คล้ายกันในแต่ละแหล่งกำเนิด

  1. การป้องกันการเกิดและลดขยะอาหาร
    • ทุกแหล่งกำเนิดเน้นการวางแผนการซื้อ การเก็บรักษา และการประกอบอาหารอย่างเหมาะสม เพื่อลดขยะตั้งแต่ต้นทาง เช่น การจัดวัตถุดิบให้เหมาะสมกับปริมาณที่ใช้และคำนึงถึงคุณภาพ การสอบถามความต้องการของผู้บริโภค และการลดปริมาณขยะจากการปรุงอาหาร
    • กรณีศูนย์อาหาร/ร้านอาหาร/บุฟเฟต์ เน้นให้ลูกค้าเลือกอาหารพอรับประทานเพื่อลดการเหลือทิ้ง
  2.  การจัดการอาหารส่วนเกิน
    • แหล่งกำเนิดส่วนใหญ่ เช่น ซูเปอร์มาร์เก็ต โรงแรม และศูนย์อาหาร นำอาหารส่วนเกินมาจำหน่ายในราคาลดพิเศษหรือบริจาคให้กับกลุ่มผู้ด้อยโอกาส เช่น ชุมชนแออัด สถานสงเคราะห์ โดยคำนึงถึงความปลอดภัยอาหาร
  3.  การจัดการขยะที่เลี้ยงสัตว์ได้
    • ทุกแหล่งกำเนิดเน้นคัดแยกขยะที่เลี้ยงสัตว์ได้ เช่น เศษผัก ผลไม้ เศษเนื้อสัตว์ โดยจัดเก็บในภาชนะที่ปิดสนิทเพื่อป้องกันกลิ่นและสัตว์รบกวน เพื่อนำไปเลี้ยงสัตว์ ทำปุ๋ยหมัก หรือน้ำหมักชีวภาพ หากจัดการเองไม่ได้ จะส่งต่อให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น
  4.  การจัดการขยะที่เลี้ยงสัตว์ไม่ได้
    • ขยะประเภทนี้ เช่น อาหารรสเผ็ด เปลือกผลไม้หนา กระดูก ถูกคัดแยกและส่งต่อให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นหรือผู้ประกอบการนำไปทำปุ๋ยหมักหรือน้ำหมักชีวภาพ

แนวทางการจัดการขยะที่แตกต่างกันในแต่ละแหล่งกำเนิด

1. ครัวเรือน

เน้นการจัดการด้วยตนเอง เช่น การใช้ถังขยะเปียก การทำน้ำหมักชีวภาพในครัวเรือน หากจัดการไม่ได้ จึงจะส่งต่อให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นดำเนินการต่อไป

2. ศูนย์ราชการ/โรงเรียน

มีการปรับให้เหมาะกับการให้บริการในโรงอาหาร เช่น การสอบถามปริมาณอาหารและจัดเตรียมปริมาณอาหารที่ผู้บริโภคต้องการ เพื่อลดขยะส่วนเกิน

3. ตลาด

การบริหารจัดการขยะเน้นที่การแยกวัตถุดิบใกล้หมดอายุและขายในราคาถูก รวมถึงการแจกจ่ายอาหารส่วนเกินในหมู่ผู้ค้าด้วยกัน

4. วัด

ให้ความสำคัญกับการจัดการขยะในกิจกรรมทางศาสนา เช่น การแนะนำเจ้าภาพให้จัดอาหารในปริมาณเหมาะสม

5. คอนโดมิเนียม/อาคารสูง

เน้นบทบาทของนิติบุคคลในการจัดระบบทิ้งและเก็บขยะ โดยกำหนดจุดรวบรวมและแจ้งข้อมูลให้ผู้อยู่อาศัยปฏิบัติตาม

6. โรงแรม

เพิ่มความเฉพาะเจาะจงในกรณีการจัดการอาหารบุฟเฟต์ เช่น การตั้งค่าปรับสำหรับลูกค้าที่ตักอาหารมากเกินไป และการแปรรูปวัตถุดิบเหลือใช้เป็นอาหารใหม่ในราคาประหยัด

7. ศูนย์อาหาร/ร้านอาหาร

นำอาหารส่วนเกินมาจำหน่ายในราคาลดพิเศษ หรือมีการใช้เทคโนโลยีหรือ application ด้านการจัดการอาหารส่วนเกินและขยะอาหาร

8. ซูเปอร์มาร์เก็ต/ร้านสะดวกซื้อ

ให้ความสำคัญกับการจัดการสินค้าบนชั้นวาง เช่น การเรียงลำดับสินค้าให้วัตถุดิบที่ใกล้หมดอายุอยู่ด้านหน้าและจัดโปรโมชันสำหรับสินค้าที่ใกล้หมดอายุ

การเตรียมและดำเนินงานขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในการจัดการขยะอาหาร

ต้องดำเนินการอย่างเป็นระบบ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการจัดการและลดปัญหาสิ่งแวดล้อม โดยมีแนวทาง ดังนี้

1. การวางระบบการจัดเก็บขยะอาหาร

บุคลากรขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นต้องมีความรู้ความเข้าใจในกระบวนการจัดการขยะอาหารจากแต่ละแหล่งกำเนิด เพื่อสามารถวางแผนระบบจัดเก็บและกำหนดแนวทางจัดการได้อย่างเหมาะสม

2. การจัดเตรียมอุปกรณ์และเจ้าหน้าที่

ควรตรวจสอบและเตรียมรถเก็บขน รวมถึงอุปกรณ์ที่จำเป็นให้อยู่ในสภาพพร้อมใช้งาน เช่น ภาชนะปิดสนิทที่เพียงพอต่อการรองรับขยะหลายรอบ และอุปกรณ์ช่วยเก็บขน เช่น รถเข็นเล็ก นอกจากนี้ เจ้าหน้าที่ต้องพร้อมรับมือกับปัญหาเฉพาะหน้า โดยสามารถใช้เทคโนโลยี เช่น แอปพลิเคชัน Line ในการสื่อสารและอัปเดตข้อมูลขยะแบบเรียลไทม์

3. การจัดการขยะอาหารที่เก็บรวบรวม

ขยะอาหารที่เก็บได้ควรถูกนำไปใช้ประโยชน์ตามลำดับความเหมาะสม ได้แก่:

  • เลี้ยงสัตว์ เช่น หนอนแมลงวันลาย ไส้เดือน หมู ปลา หรือไก่ โดยต้องแยกขยะตามความเหมาะสม เช่น หลีกเลี่ยงขยะที่ปนเปื้อนยาฆ่าแมลง
  • หมักปุ๋ยหรือน้ำหมักชีวภาพ สำหรับขยะที่ไม่สามารถนำไปเลี้ยงสัตว์ได้หรือมีปริมาณมากเกินความต้องการ
4. การติดตามและบันทึกข้อมูล

บันทึกปริมาณและประเภทขยะอาหารที่จัดเก็บได้ เพื่อประเมินประสิทธิภาพของระบบจัดการ พร้อมทั้งวางแผนพัฒนาการจัดการในระยะยาว

5. การสื่อสารและประชาสัมพันธ์

ประชาสัมพันธ์เพื่อให้ประชาชนทราบข้อมูลเกี่ยวกับเส้นทาง เวลา และวิธีการจัดเก็บขยะอาหาร โดยใช้สื่อที่หลากหลาย เช่น ป้ายประกาศ ระบุจุดทิ้งขยะ วัน และเวลาเก็บขน แอปพลิเคชันสำหรับแลกเปลี่ยนขยะเพื่อนำไปใช้ประโยชน์หรือสำหรับบริหารอาหารส่วนเกิน และเสียงตามสายหรือเว็บไซต์เพื่อเผยแพร่ข้อมูลและตอบข้อสงสัย

6. การสร้างความร่วมมือจากประชาชน

จัดกิจกรรมรณรงค์และสร้างความตระหนักรู้ เพื่อส่งเสริมการมีส่วนร่วมของประชาชนในการคัดแยกและจัดเตรียมขยะอาหารอย่างเหมาะสมก่อนการทิ้ง ช่วยลดภาระการจัดการปลายทาง และเพิ่มโอกาสในการนำขยะอาหารไปใช้ประโยชน์สูงสุด

ในท้ายที่สุด การจัดการขยะอาหารในประเทศไทยยังคงเป็นความท้าทายที่ต้องการความร่วมมือจากทุกภาคส่วน ทั้งภาครัฐ เอกชน และประชาชน การเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมในระดับครัวเรือน การสร้างระบบที่สนับสนุนการจัดการที่มีประสิทธิภาพ และการพัฒนานโยบายที่ส่งเสริมความยั่งยืน จะเป็นกุญแจสำคัญในการลดผลกระทบจากขยะอาหาร และสร้างสังคมที่ยั่งยืนในระยะยาว